หยุดโรคไข้เลือดออก ป้องกันยุงกัดไม่ให้ยุงเกิด
โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำเชื้อจากคนป่วยสู่คนปกติ โรคนี้พบได้ทุกวัยส่วนใหญ่มักจะเป็นในเด็กและจะระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวันตามบ้านเรือน และโรงเรียน ชอบวางไข่ในน้ำสะอาดที่อยู่นิ่งๆ ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว เป็นต้น
อาการของโรคไข้เลือดออก
หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคแล้ว เชื้อก็จะฟักตัวในร่างกายประมาณ 5-8 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการ มีไข้ ตัวร้อน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร และปวดท้องหลังจากมีไข้ 2-3 วัน มักมีจุดแดงใต้ผิวหนัง อาจมีเลือดกำเดาไหลอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจาระดำ ในระยะไข้ลดบางรายอาจช็อกตัวเย็น กระสับกระส่าย ซึมลง หมดสติ และอาจถึงตายได้
วิธีการดูแลรักษ ผู้ป่วยเบื้องต้น
หากเด็กหรือผู้ใหญ่ไข้สูงลอยโดยสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียล ให้รีบเช็ดตัวและกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ หากอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลดลง ในวันที่ 2 ให้รีบไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็วเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ระวัง...สัญญาณอันตราย
ไข้ลดอย่างรวดเร็ว
อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจาระดำ และอาจมีเลือดกำเดาไหล
มีอาการอ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ปากเขียว
ในเด็กเล็กจะร้องกวนตลอดเวลา
ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานาน
ป้องกันไม่ให้ยุงกัด
นอนกางมุ้ง/ทาโลชั่นหรือสารป้องกันยุงกัด/ใช้เครื่องไล่ยุง/สมุนไพรไล่ยุง/ยาฉีดไล่พ่นยุง โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นไข้สูงลอยสงสัยเป็นไข้เลือดออก ให้ทาโลชั่นหรือสารป้องกันยุงกัดทันทีและทาตลอดช่วงที่เป็นไข้ เพื่อป้องกันยุงลายกัดและนำเชื้อโรคไปแพร่ผู้อื่น
ป้องกันไม่ให้ยุงเกิด 5ป. 1ข.
ปิด ฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด
เปลี่ยน น้ำทุกสัปดาห์ ในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้หรือใส่เกลือ น้ำส้มสายชู หรือผงซักฟอกลงในจานรองตู้กับข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่
ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำยุงลาย
ปรับปรุง สิ่งแวดล้อม โดยเก็บทำลายภาชนะที่มีน้ำขังหรือไม่ใช้แล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย
ปฏิบัติ เป็นนิสัย โดยปฏิบัติทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง
ขัด ล้างภาชนะ เพื่อขัดไข่ยุงลายออก
© Not Copyright 2025 development & modification of Bangklam Hospital by ชายคนหนึ่ง